Friday, February 17, 2017

วันแรกที่แม่ป่วยกับการตัดสินใจ สติและเงินสำคัญเสมอ


“แม้ผู้ป่วยทุกคนจะมีสิทธิฉุกเฉิน เข้ารักษาก่อนได้ทุกที่ แต่สุดท้ายก็ต้องไปลุ้นอยู่ดีว่าหน้างานจะเป็นแบบไหน
เพราะงั้นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด ถ้าคุณไม่มีสิทธิการรักษาในโรงพยาบาลนั้นก็ได้”

ย้อนกลับไปวันที่แม่เราป่วย มีรพ.อย่างน้อย 2 แห่งที่ใกล้กว่า รพ.ที่เราเลือกเอาแม่ไปส่ง...

“เนี่ย.. ถ้าตอนนั้นเอาไปส่งรพ.
xxx ก็ไม่หนักขนาดนี้หรอก” คนแถวละแวกบ้าน กล่าว.
เราได้แต่ยิ้มอ่อนกลับไป เพราะเห็นประโยชน์อะไรที่จะชี้แจง “การวิเคราะห์หลังเกมจบ..ง่ายเสมอ”

วินาทีที่เราเรียกแล้วแม่ไม่ตอบ หันไปที่นั่งข้างคนขับแล้วเห็นแม่คอตก แขนกระตุกเปะปะ
เรารู้แน่ชัดว่า “ความชิบหาย” ได้เกิดขึ้นแล้ว และสิ่งที่เราคิดต่อมาคือ “แม่คนเดิมจะไม่อยู่กับเราอีกแล้ว”
ระยะห่างระหว่างรพ.ที่ใกล้ที่สุด กับ รพ.ที่เราพาแม่ไปส่ง กะคร่าวๆน่าจะใช้เวลาขับรถต่างกันประมาณ 10-20 นาที
คนทั่วไปมักพูดกันว่า “ความเป็นตายของคนป่วย แค่เสี้ยววินาทีก็สำคัญ”
แต่เราในตอนนั้น กลับคิดว่ามันไม่ทันแล้ว เพราะงั้น จะต่างกันแค่ 10 หรือ 20 นาที ก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป

“เราเสียแม่ไปแล้ว เราจะไม่ยอมเสียอะไรโดยไม่จำเป็นอีก” ...ในหัวเราคิดแบบนี้จริงๆ

เราเลือกที่จะไปรพ.ที่แม่มีประวัติ และสิทธิการรักษา รพ.ที่เราคุ้นเคยพื้นที่ รพ.ที่เราพอรู้ระบบของเขา
รพ.ที่เราคิดว่าเราจะคุยกับเจ้าหน้าที่ พยาบาล และหมอรู้เรื่อง 
รพ.ที่จะดูแลแม่เราอย่างต่อเนื่องได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ต้องรับความเสี่ยงในการส่งตัวไปที่โรงพยาบาลอื่นอีก

“ไม่มีเวลาให้ตกใจหรือเสียใจอีกต่อไป” 
สมองต้องคิดตลอดว่าจะทำยังไงให้ทุกอย่างง่าย จบไว และเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตให้น้อยที่สุด

สเต็ปที่ 1 : ช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่รพ.ทำงาน “ง่ายและเร็ว” ที่สุด
เราโทรศัพท์ไปแจ้งอาการแม่กับเขา พูดคุยกันว่าเราจะเอาแม่ไปส่งที่ประตูไหน การสนทนากินเวลาไม่ถึง 5 นาทีก็วางสาย ใช้เวลาระหว่างติดไฟแดงหาบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประกันสุขภาพของแม่ทุกใบมาเตรียมไว้ พร้อมจดเบอร์ติดต่อของเราใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ มัดรวมอยู่ในซองเดียวกัน

ไม่ถึง 30 นาทีหลังการสิ้นสติของแม่ เราก็เอารถไปเกยยังประตูห้องฉุกเฉินที่มีเจ้าหน้าที่หน้าคุ้นเคยที่รอรับอยู่แล้ว
เรายัดทุกสิ่งที่เตรียมไว้ใส่มือเขา เอ่ยเบาๆว่า “รบกวนด้วยนะคะ”
จากนั้นเอารถไปจอด และมุ่งตรงมายังห้องฉุกเฉิน แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่รพ.
ได้รับแจ้งว่ากำลังปรับสภาพร่างกายให้คงที่ เตรียมทำเอ็กซเรย์สมอง

เรามองผ่านประตูห้องฉุกเฉินไป ก็พบว่าแม่เราได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ใน ในระดับเคสฉุกเฉิน
ทุกอย่างในสเต็ปที่ 1 ผ่านไปด้วยดีตามแผนที่คิดไว้

สเต็ปที่ 2 : สรุปจบเงื่อนไข และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้ “ชัดเจน” ที่สุด
หลังแจ้งขั้นตอนการรักษาแม่จบ เราเอ่ยปากถามเรื่องสิทธิการรักษา
เจ้าหน้าที่จึงได้ชี้ทางไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เรายื่นบัตรทั้งหมดที่แม่มี เพื่อตรวจดูสิทธิว่ามีอะไรบ้าง
ที่เรารู้แน่คือ ประกันสังคมและประกันเอกชน ที่เราไม่ต้องสำรองจ่ายก่อนแน่นอนหากมารพ.นี้
เมื่อเอกสารครบ ตรวจสอบสิทธิ์ทุกอย่าง คอนเฟิร์มเสร็จเรียบร้อย เรายืนยันเจตนากับเจ้าหน้าที่อีกครั้งโดยสรุปว่า

“เราต้องการการรักษาและตัวยาในระดับที่ดีที่สุด โดยขอใช้สิทธิประกันสังคมก่อน 
ในส่วนที่ประกันสังคมไม่ครอบคลุมหรือเกิน ให้โอนไปยังประกันเอกชน 
และถ้าหากยังเกินอีกเราไม่มีปัญหาถ้าต้องจ่ายเงินสด”

เมื่อคอนเฟิร์มทุกอย่างตรงกัน มันก็ง่ายไปอีกขั้น เป็นเวลาเดียวกับที่แม่ถูกเข็นออกมาจากเอ็กซเรย์สมองพอดี
สภาพร่างของแม่ดูดีขึ้นมาก สีหน้าดูโอเคขึ้น แม้จะสงบนิ่ง แต่โดยรวมก็ไม่น่าตกใจเหมือนตอนที่มาถึงใหม่ๆ
2 สเต็ปผ่านไป เรายังคงพอใจ ในระหว่างเดินตามเตียงแม่กลับไปที่ห้องฉุกเฉิน เราคิดถึงสเต็ปที่ 3

สเต็ปที่ 3 : เสถียรภาพด้านการเงินต้องไม่เปลี่ยนแปลง
ที่บ้านเราเป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานอยู่ 2 คนคือพ่อกับแม่ และแม่คือคนที่มีอำนาจดูแลเรื่องการเบิกจ่ายเงิน การเซ็นเอกสารทุกอย่างของบริษัททั้งหมด.. เราโทรหาสำนักงานบัญชี แจ้งเรื่องให้ทราบโดยคร่าว ว่าเราต้องการเปลี่ยนผู้มีอำนาจในบริษัทจากแม่เป็นเราทั้งหมด เพราะแม่ไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป ทางนั้นรับทราบและเข้าใจ แจ้งวิธีการและเอกสารทั้งหมดที่เราต้องเตรียมส่งให้เพื่อจะได้ดำเนินเรื่องให้ไวที่สุด รวมถึงการดำเนินการเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของแม่ด้วย เพราะทรัพย์สินของครอบครัวเรา 90% เป็นชื่อของแม่ทั้งหมด



ซึ่งเมื่อเคลียร์สเต็ปนี้ไปได้ เราโคตรโล่งใจเพราะ “เรื่องเงินสำคัญเสมอในทุกสถานการณ์” (สุดท้ายจ่ายส่วนต่างแค่ 40 บาท และได้เงินชดเชยตามสิทธิอีก) จากนั้นก็ได้รับแจ้งผลการตรวจของแม่ว่า “เส้นเลือดในสมองแตก 4 ซม.” เตรียมส่งไอซียู รอหมอสมองประเมินเพื่อผ่าตัด

สเต็ปที่ 4 : บอกคนอื่นอย่างไรให้ “ตกใจ” น้อยที่สุด
หลังจากแม่ถึงมือหมอแล้ว เราเริ่มจดบันทึกใน Note ถึงเวลาแต่ละช่วง ให้เข้าใจง่ายที่สุด แล้วโยนลงเฟสบุค


จากนั้นทยอยบอกญาติๆ เรียงลำดับถึงความสำคัญในการช่วยเหลือหน้างานของเราให้มากที่สุดก่อน ซึ่งก็คือ “คุณน้า” 2 คนของเราเอง ซึ่งโชคดีที่เราคิดถูก เพราะทันทีที่มีคนรู้เรื่อง ก็มีคนมาให้กำลังใจกันเต็มไปหมด ขณะที่แม่รอผ่าตัด เราหลีกเลี่ยงมากที่จะเข้าไปดูแม่ เข้าไปแตะตัวแม่ เพราะเรารู้ตัวเองว่าถ้าเราเข้าไป “เราจะไม่มีสติทำอะไรต่อได้อีก”

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังถูกเรียกให้เข้าไป ให้จับมือแม่บ้าง ให้เรียกชื่อแม่บ้าง ให้บอกบทสวดมนต์ให้แม่บ้าง ฯลฯ บอกตามตรงจุดนั้นเราโคตรอึดอัด แต่ก็เข้าใจในความหวังดี จึงทำได้แค่ขอตัว อ้างว่าต้องไปคุยเรื่องเอกสารกับธุรการ แล้วเดินออกมา ซึ่งคุณน้าเราก็เข้าใจดี ในการเข้าไปดีลกับผู้หวังดีเหล่านั้นแทนให้

สเต็ปนี้ผ่านไปแบบกระท่อนกระแท่น เพราะมันมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่เยอะ แต่ก็โอเคแหละ ถือว่าไม่แย่

สเต็ปที่ 5 : ประคับประคองทุกอย่างให้นิ่งที่สุดจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อเคลียร์หน้างานที่เป็นเรื่องฉุกเฉินทุกอย่างจบแล้ว การผ่าตัดของแม่ก็เป็นไปได้ด้วยดี ก็ต้องคิดว่าหลังจากนี้จะเป็นไงต่อ ในเมื่อชีวิตก็ต้องเดินต่อไป เราสลับกับพ่อไปอยู่กับแม่ที่รพ. ทุกเช้าเราจะไปเปลี่ยนเวรกับพ่อที่รพ. และทุกเย็นหลังทำงานพ่อก็จะมาเปลี่ยนเวรกับเรา เราซื้อโน้ตบุคเบาๆเครื่องเล็กๆโง่ๆลดราคามา 1 เครื่อง เพื่อเอาไว้เคลียร์งานเก่า และลุยงานบริษัทแทนแม่ โชคดีที่คุณย่ายังแข็งแรง และมีคุณป้าแท้ๆ ที่มาช่วยดูแลงานบ้านให้อย่างเต็มตัว 

เราหมั่นอัปเดตรูปภาพ และอาการของแม่ลงเฟสบุคเรื่อยๆ... ทำทุกอย่างให้ดูปกติที่สุด เพราะเราคิดไปเองว่า คงมีคนเป็นห่วงเยอะ

 

ซึ่งไอ้ทุกอย่างที่ทำเหมือนว่ากูโอเคอ้ะ คือหลอกทั้งนั้น และถ้าถามต่อว่าทุกวันนี้โอเคมั้ย ก็บอกเลยว่า “ไม่โอเคหรอก”
แต่ก็นั่นแหละ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แล้วถ้ามันเกิดไปแล้ว แล้วเป็นเรื่องชิบหาย “คนที่อยู่รอด คือคนที่ปรับตัวได้” ว่ะ



ย้อนกลับไปที่ประโยคต้นเรื่องว่า “โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด ถ้าคุณไม่มีสิทธิการรักษาในโรงพยาบาลนั้น” เพราะจาก 5 สเต็ปที่เขียนมานี้มันเกิดขึ้นได้และผ่านไปอย่างราบรื่นเพราะเราตัดสินใจมาที่รพ.นี้. แทนที่จะไปรพ.ที่ใกล้กว่า เพราะเหตุผลด้านมาตรฐานที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของประเทศเรานั่นแหละ “เจอคนดีก็ดีไป เจอคนไม่ใส่ใจก็ซวย” เท่านี้แหละจ้ะ