Monday, November 9, 2015

รับสิทธิ์ให้แม่ กับเบี้ยยังชีพผู้พิการ

ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ถ้าใครไปทำธุระที่สำนักงานเขต ก็จะพบเห็นบรรดาลุงป้าวัยเพิ่งเกษียณหอบหิ้วสังขารตัวเองด้วยใบหน้าแจ่มใส เพื่อไปขึ้นทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กับอีกกลุ่มคือกลุ่มคนพิการน้องใหม่ที่มาลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพคนพิการเช่นกัน โดยเงินที่จะตกถึงผู้สูงอายุและคนพิการนั้นจะใช้คอนเซ็ปเดียวกันคือ 

“ลงทะเบียนปีนี้ รับเงินปีหน้า”

หนึ่งในผู้พิการน้องใหม่ที่ไปลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2560 ก็คือแม่เราเอง และเพื่อความชัวร์ที่สุด คนเป็นลูกอย่างเราก็ได้เตรียมการในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากค่อนข้างเข็ดขยาดจากการให้บริการของเจ้าหน้าสำนักงานเขต (เลื่อนอ่านได้จากที่เคยเขียนไว้เก่าๆ) เพราะฉะนั้นต้องท่องไว้ในใจว่า “ข้อมูลต้องแน่น หลักฐานต้องพร้อม เอกสารต้องครบ ปัญหามาเมื่อไหร่ ต้องสตรวองและพร้อมไฟท์ทันที!!!

ว่าแล้วก็ลงมือทำเช็คลิสต์เอกสารแบบโง่ๆ ประกอบด้วย
  1. สำเนาบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้านของแม่
  2. สำเนาบัตรคนพิการของแม่ (ด้านหลังระบุชื่อผู้ดูแลเป็นชื่อเรา)
  3. สำเนาบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้านของเราเอง (เพราะแม่ไม่ได้มาด้วยตัวเอง)
  4. คำสั่งจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ให้เราเป็นผู้อนุบาลแม่
  5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย

** รับรองสำเนา ระบุธุรกรรมที่ต้องใช้ เซ็นชื่อกำกับให้ครบ 
และอย่าลืมหยิบทุกอย่างที่เป็นฉบับจริงไปเผื่อด้วย **

เลี้ยวรถเข้าสำนักงานเขต พุ่งไปที่จุดประชาสัมพันธ์ ก็พบเซอร์ไพรส์ที่ 1..
มีการตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนโดยเฉพาะเลยว่ะ คือดีมาก เป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าระบบราชการจะทำได้ เลยเดินดุ่มเข้าไปเอ่ยปากถามเด็กหนุ่มหัวเกรียนซึ่งน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อาสาที่นั่งอยู่ที่โต๊ะไปด้วยเสียงเจ็ดว่า 
“มาลงทะเบียนรับเบี้ยคนพิการค่ะ” น้องหนุ่มทำหน้างงๆ ในใจคงสงสัยว่า ..อีนี่พิการตรงไหน? แต่ก็เชื้อเชิญให้นั่งลง พร้อมหยิบเอกสารมาให้กรอก ซึ่งก็เป็นเอกสารฟอร์มลงทะเบียนธรรมดาทั่วไป

กรอกเอกสารเรียบร้อย ก็ถึงขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร ซึ่งแน่นอนว่าผ่านฉลุยแบบไม่มีข้อโต้แย้ง พระเอกของงานนี้คือ เอกสารที่ 4 ในเช็คลิสต์ คือ “คำสั่งศาลฯระบุชื่อให้เราเป็นผู้ทำธุรกรรมแทนแม่” ซึ่งมีฤทธิ์พอๆกับกระบี่อาญาสิทธิ์ของเปาบุ้นจิ้น เอาไปโชว์ที่ไหน คนจะงงก่อนแป๊ปนึง และหลังจากนั้นทุกอย่างก็เป็นเรื่องง่ายทันที 

(ซึ่งคุยกับพี่เจ้าหน้าที่ในชุดข้าราชการแล้วว่าถ้าไม่มีเอกสารนี้จะยุ่งไปอีกหนึ่งเบอร์ เพราะต้องมีการมอบอำนาจอีก ถ้าเซ็นมอบอำนาจไม่ได้ก็ต้องปั๊มลายนิ้วมือ แต่พอมีใบนี้ปุ๊ป หมดทุกข้อสงสัยเลยจ้า)

เมื่อเอกสารทุกอย่างเรียบร้อย ก็ถูกส่งไปที่ส่วนสุดท้าย คือการลงทะเบียนจริง ด้วยวิธีการแบบไท๊ยไทย คือยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่รับลงทะเบียนอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบครั้งสุดท้าย และเขียนบันทึกด้วยลายมือ ออกบัตรสีชมพูให้ 1 ใบ เพื่อแสดงว่าคุณได้มาลงทะเบียนแล้วนะคะ บัตรที่ได้รับก็เป็นกระดาษบางๆไปเคลือบแข็งเอง หน้าตาเช่นนี้ ..
เป็นบัตรที่ทันสมัยมากค่ะ
แล้วก็...เรียบร้อยค่ะ กลับบ้านได้ รอรับเบี้ยเดือนแรก ตุลาคมปีหน้านะคะ

ทุกสิ่งทุกอย่างมันช่างง่ายดายและสะดวกสบายมาก ก่อนกลับจึงแอบถามพี่เจ้าหน้าที่ว่า “จำเป็นด้วยเหรอคะ ที่ต้องใช้บัญชีของธนาคารกรุงไทย?” ได้รับคำตอบว่า “ไม่ได้บังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือมากกว่า เพราะทางเขต (ไม่แน่ใจว่าทุกเขตหรือเปล่า) จะใช้บริการของธนาคารกรุงไทย ซึ่งถ้าหากมีปัญหา ไม่ได้รับเงิน หรือผู้รับเงินเสียชีวิตใดใด จะประสานงานคุยกันได้สะดวกและรวดเร็วกว่าค่ะ” ...ซึ่งเคลียร์ โชคดีที่มีบัญชีกรุงไทย

ส่วนปัญหาที่เจอที่สำนักงานเขตในวันนี้ ก็จะมีแค่เครื่องถ่ายเอกสารที่เสีย ซึ่งถ้าเตรียมเอกสารมาพร้อมก็ไม่มีปัญหา เจ้าหน้าที่จุดตรวจรับเอกสารก็แนะนำดีว่าใกล้ที่สุดมีที่ไหน มีลุงป้ามากมายที่ไม่เข้าใจ ก็ได้รับการอธิบายอย่างใจเย็น กรณีไหนประหลาดหน่อย หรือไมค่อยได้เจอ (อย่างของเรา) พี่เจ้าหน้าที่ผู้หญิงในชุดข้าราชการที่ตรวจเอกสารก็เดินตามมาอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับลงทะเบียนต่อเข้าใจได้เลยว่าไม่ต้องตรวจเพิ่มแล้ว เพราะเขามีคำสั่งศาลฯมาด้วย ทุกคนเข้าใจตรงกัน ไม่ต้องมีคำถามอะไรต่อ ประชาชนอย่างเรารู้สึกประทับใจมาก และขอบคุณจริงๆ กับเซอร์วิสมายด์ของบรรดาเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตหนองแขมที่ดูแลในเรื่องการลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุและพิการ ในจุดนี้


เขียนมาถึงตอนนี้ ก็อยากจะขอแนะนำว่า ใครที่มีคนพิการอยู่ในความดูแล ก็ไปดำเนินการขึ้นทะเบียนทำบัตรคนพิการให้เรียบร้อย และไปขอรับเบี้ยยังชีพเถอะค่ะ มันอาจเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่มันก็เป็นหนึ่งสิทธิโดยชอบธรรมของเราที่จะต้องได้รับนะ ยังทันนะคะ รับถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ที่สำนักงานเขต เทศบาล หรืออบต. ตามสังกัดทะเบียนบ้านของผู้พิการนั่นแหละค่ะ

แปะคลิปที่สร้างแรงบันดาลใจตลอดกาล 

No comments:

Post a Comment